มนุษย์เรามีความซับซ้อนทางจิตใจ สมอง และการแสดงออกมาก ทำให้การ อ่านใจคน เป็นเรื่องที่ยาก การกระทำกับคำพูดอาจจะสวนทางกัน โดยที่เราไม่ทันได้เอะใจเลยสักนิด หรือไม่ก็กำลังมีใครบางคนโกหกหรือปกปิดบางสิ่งอยู่
ลองใช้วิธีเหล่านี้ที่จะทำให้คุณ อ่านใจคน ได้ง่ายขึ้น
คนโกหกจะไม่โกรธ แต่จะหาข้ออ้าง
การจับโกหกของคนที่กำลังคุยด้วยง่ายนิดเดียว จากตัวอย่างต่อไปนี้
ลูกค้าคนหนึ่งมาแจ้งปัญหาสินค้าโดยบอกว่าพริ้นเตอร์ที่ซื้อไปเมื่อสองวันก่อนไม่ทำงาน ลูกค้ามีใบเสร็จ ตัวพริ้นเตอร์ก็ยังอยู่ในสภาพดี แต่เมื่อตรวจสอบดูพบว่ามีชิ้นส่วนตัวหนึ่งหายไป และดูเหมือนว่าลูกค้าจะเป็นคนขโมยชิ้นส่วนนั้นไปเอง
เดวิด ลีเบอร์แบน นักจิตวิทยาบอกว่าเมื่อเราแจ้งว่าชิ้นส่วนหายไป ลูกค้า “แสดงอาการโกรธหรือไม่”
เมื่อเราถามว่า “คุณลูกค้าครับ สินค้าอยู่ในสภาพปกติก็จริง แต่เราพบว่ามีชิ้นส่วนหนึ่งหายไป”
คำตอบจะออกมาสองแบบคือ
1.ลูกค้าตอบโดยเริ่มต้นว่า “ผมไม่ได้เอาไปนะ มันไม่ได้ใส่มาตั้งแต่ต้นแล้วหรือเปล่า”
2.ลูกค้าโกรธและโวยวายว่า “นี่คุณเอาของที่ไม่สมประกอบมาขายหรือ นี่ผมเสียเวลาเปล่าๆ ไปสองชั่วโมงเพื่อจะทำให้มันใช้งานได้”
เดวิดกล่าวว่า ถ้าไม่ได้ขโมยจริงๆ คำตอบจะได้เป็นข้อ 2 เพราะทำให้เขารู้สึกโกรธ ส่วนคนที่แก้ตัวทั้งที่ยังไม่ได้ถามต่อก็สามารถเดาได้ว่าเขาพยายามหาข้ออ้างอยู่นั่นเอง
จับโกหกด้วยการเปรยข้อมูลหลอกๆ
คุณรู้สึกว่าลูกน้องแอบดื่มเหล้าทั้งที่เป็นเวลางานทั้งๆ ที่บริษัทมีกฎห้ามดื่มเหล้าอยู่ และถ้าลูกน้องคนนี้เคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาการเป็นประจำ ให้ลองแกล้งเปรยว่า“ วันก่อนฉันอ่านเจอว่า 42% ของคนติดสุรามักจะเคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาหาร” หากเขาดื่มเหล้าในเวลางานจริงเขาจะเลิกเคี้ยวหมากฝรั่งทันที แต่ถ้าแกล้งพูดไปแบบนั้นแล้วเขายังเคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาหารเหมือนเดิม นั่นแปลว่าเขาไม่ได้ดื่มเหล้า เลยไม่จำเป็นต้องเลิกเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อกลบเกลื่อน
ตั้งคำถามภาพรวม เพื่อดึงสิ่งที่อยู่ในใจ
คนเราเวลาตั้งคำถามแบบภาพรวม มักไม่ระวังตัวเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง และมีแนวโน้มจะตอบคำถามนั้นจากสิ่งที่อยู่ในใจ เช่น หากเราถามหนุ่มๆ ว่า “คุณนอกใจคนรักได้หรือไม่” ทุกคนคงตอบปฏิเสธ คงไม่มีใครยอมรับแต่โดยดีว่า “ผมนอกใจแฟนได้ครับ”
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น “ถามแบบภาพรวมนะ คุณคิดว่าผู้ชายส่วนใหญ่นอกใจคนรักได้หรือเปล่า” แบบนี้จะล้วงความคิดอีกฝ่ายได้ง่ายกว่า
อย่าหลงเชื่อการแสดงออกทางสีหน้า
คนเราไม่ได้แสดงสีหน้าออกไปตามอารมณ์ที่แท้จริงเท่าไรนัก บางครั้งเราก็แสร้งแสดงความรู้สึกบางอย่างเพื่อหลอกคนตรงหน้าเหมือนกัน เช่น เพื่อนในที่งานพูดว่า “ผมไม่ได้เตรียมตัวพรีเซ็นเทชั่นมาเลย แย่แน่ๆ ” แล้วทำสีหน้าเศร้าสร้อย คุณเชื่อไหมว่าเขาไม่ได้เตรียมตัวมาจริงๆ …
โรซานนา กัวดาโย ได้กล่าวว่า ผู้ชายมักชอบใช้วิธีแสร้งทำมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายต้องการมีข้อแก้ตัวไว้ในกรณีทำผิดพลาด จึงไม่ต้องการให้คนรู้ถึงความพยายามของตน เมื่อคนอื่นคิดว่าเราไม่พร้อม ทำผลงานได้ไม่ดี เราก็มีข้อแก้ตัว แต่ถ้าทำออกมาดี คนก็จะยิ่งชื่นชม
การขยับมือ เป็นคำใบ้ว่ามีความกังวลอยู่
สิ่งที่บ่งบอกอาการกังวลได้ดีที่สุดคือมือ เช่น การขยับมือเล็กน้อย การขยับนิ้วด้วยความกระสับกระส่าย และการจับเก้าอี้แน่น หากสังเกตมือ เราจะบอกได้ว่าอีกฝ่ายกังวลหรือไม่ ยิ่งหากเขาเลียริมฝีปาก หายใจแรง หายใจติดขัด ให้สังเกตทั้งมือและปากเราจะยิ่งบอกความกังวลของเขาได้อย่างแม่นยำ
บทความนี้มาจากเพจ : Amarin books