เลี้ยงลูกด้วยดนตรี เสริมสร้างพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก
เลี้ยงลูกด้วยดนตรี เสริมสร้างพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก
 10 Oct 2019   1439

      เลี้ยงลูกด้วยดนตรี เป็นสิ่งที่ดีและทำได้จริง จากรายงานวิจัยหลายประเทศระบุว่า การใช้ดนตรีเป็นสื่อจะทำให้เด็กพัฒนาสมองได้อย่างรวดเร็ว เซลล์สมองเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

      พัฒนาการฟังนับเป็นพัฒนาการแรกสุดของลูก เพราะลูกสามารถฟังทุกๆ เสียงที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยจะมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงวัย การใช้ดนตรีจึงช่วยพัฒนาทักษะการฟังได้เป็นอย่างดี และยังช่วยส่งเสริมทักษะอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย

มาดูกันว่า การเลี้ยงลูกด้วยดนตรี ในแต่ละช่วงอายุควรใช้ดนตรีแบบไหน

 

เด็กอายุ 3 สัปดาห์ – 3 เดือน

      เด็กในช่วงนี้จะร้องนาน ร้องมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน คุณแม่อาจช่วยปลอบลูกด้วยการตบหลังลูกเบาๆ หรือเปิดเพลงพร้อมกับปลอบไปด้วย โดยเลือกเพลงที่มีความผ่อนคลายระดับเสียงไม่สูงมาก เพราะการศึกษาพบว่าเสียงที่มีความถี่ต่ำจะช่วยให้เด็กหยุดร้องได้ง่ายกว่าเสียงที่มีความถี่สูง

      เพลงที่เด็กวัยนี้ชอบมักจะเป็นเพลงที่มีน้ำเสียงรื่นหู ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องมากกว่ามีการหยุดหรือมีความเงียบมาแทรก ชอบฟังเพลงที่มีความรู้สึกด้านบวก สดใส มีความสุขมากกว่าเพลงเศร้า และพวกเขาสามารถแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อเสียงใหม่ๆ หรือเครื่องดนตรีใหม่ๆ ได้ด้วย

 

เด็กอายุ 3-6 เดือน

      เด็กในวัยนี้สามารถควบคุมการหยิบจับสิ่งของได้บ้างแล้ว จึงสามารถหยิบของเล่นหรือเครื่องดนตรีที่เขย่าแล้วมีเสียงได้ คุณแม่ลองหาของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียง มาฝึกให้ลูกหัดจับหัดถือ พอเล่นแล้วมีเสียง ลูกก็จะรู้สึกสนุกไปกับการเคาะ การเขย่า ได้เรียนรู้เรื่องจังหวะไปด้วย

 

เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

      พวกเขาจะสามารถตอบสนองต่อเสียงดนตรีด้วยการเคลื่อนไหว โยกตัว หรือเต้นด้วยท่าเดิมๆ ซ้ำๆ กัน และเริ่มส่งเสียงที่แสดงออกถึงปฏิกิริยาที่มีต่อเสียงดนตรีได้ และเมื่อโตขึ้น การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจะเพิ่มมากขึ้น และตอบสนองต่อเสียงดนตรีได้ดีขึ้น เมื่อรูปแบบจังหวะของเสียงดนตรีเปลี่ยน เด็กก็จะสามารถเปลี่ยนท่าทางการเคลื่อนไหวเมื่อจังหวะเปลี่ยนได้

      เด็กจะพยายามมองหาที่มองของเสียง และร้องไห้เมื่อได้ฟังเสียงที่มีความดังมากๆ หรือเมื่อเพลงหยุด

 

เด็กอายุ 9 เดือนขึ้นไป

      เด็กจะให้ความสนใจกับเครื่องดนตรีที่ทำเสียงได้ เช่น เปียโน ที่ทำเสียงได้ง่ายแค่กดลงไปที่คีย์ โดยเด็กส่วนมากมักใช้ฝ่ามือตีลงไปที่คีย์จนเกิดเสียงดนตรีแล้วทำสีหน้าสนุกสนาน จากการศึกษาพบว่า ถึงแม่ว่าเด็กวัยนี้จะยังไม่สามารถควบคุมนิ้วแต่ละนิ้วให้กดลงไปบนคีย์ได้ แต่เด็กก็สามารถกดโน้ตด้วยนิ้วชี้นิ้วเดียวได้

      คุณแม่ลองกดทีละตัวแล้วให้ลูกทำตาม ถ้าลูกยังทำไม่ได้ก็ไม่ต้องกังวลอะไร แค่ให้ลูกได้ชินกับเสียงดนตรีบ่อยๆ ก็เพียงพอแล้ว

 

เด็กอายุ 10 เดือนขึ้นไป

      ช่วงนี้เด็กสามารถทำเสียงได้มากขึ้น ตบมือได้ มีการส่งเสียงเพื่อตอบสนองต่อความสนใจที่ได้รับในรูปแบบต่างๆ ได้ เริ่มเลียนแบบผู้ใหญ่ เลียนแบบการกระทำของเด็กคนอื่น สามารถเลียนแบบด้วยการส่งเสียงที่มีลักษณคล้ายคลึงกับภาษา และพูดเป็นคำได้

 

เด็กอายุ 11 เดือน

      พวกเขาสามารถจำทำนอง รูปแบบจังหวะเพลงง่ายๆ ได้ และออกเสียงอ้อแอ้ตามได้บางช่วง เริ่มมีการส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ และเริ่มมีการใช้ระดับเสียงสูง-ต่ำ ที่แตกต่างกันได้

 

เด็กอายุ 1 ขวบ

      เด็กจะมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดีขึ้น สามารถหยิบจับเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ ได้ เด็กมักจะสนใจหยิบจับ เคาะ เขย่าของหรือเครื่องดนตรีที่มีเสียง โดยเด็กช่วงวัยนี้จะให้ความสนใจกับเสียงดนตรีได้นานถึง 2-3 นาที

      หากคุณแม่อยากให้ลูกมีกิจกรรมทางดนตรีเพิ่มเติม สามารถพาลูกไปที่สถาบันสอนดนตรีได้เลย เป็นอีกทางเลือกให้ลูกได้เรียนรู้ดนตรีไปพร้อมกับเรียนรู้การเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน จะช่วยพัฒนาทักษะทางดนตรีไปพร้อมกับพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ได้

 

เด็กอายุ 2 ขวบ

      พวกเขาจะรับรู้ถึงดนตรีชัดเจนขึ้น สนใจลองสัมผัสเครื่องดนตรีใหม่ๆ ทดลองเสียงจากเครื่องดนตรีต่างๆ ตอบสนองต่อจังหวะด้วยการตี เคาะ หรือเหวี่ยงแขน สามารถเคาะจังหวะคงดีในช่วงสั้นๆ สามารถเลียนแบบการปรบมือและเคลื่อนไหวทำท่าทางตามเพลงได้บ้าง มีพัฒนาการด้านการพูดมากขึ้น พยายามออกเสียงตามเพลงที่ได้ยิน สามารถฮัมเพลงได้เป็นช่วงๆ

 

เด็กอายุ 3 ขวบ

      พัฒนาการทางการพูดดีขึ้น เด็กจะพูดได้หลายคำแล้ว เด็กวัยนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาทางภาษาและดนตรี การเรียนรู้ภาษาในช่วงนี้ เด็กจะสามารถจดจำสำเนียงและพยายามออกเสียงเลียนแบบได้

      พวกเขามีการตอบสนองทางดนตรีได้ดี และพร้อมต่อการลงมือฝึกเล่นดนตรี ครอบครัวไหนเปิดเพลงให้ลูกฟังบ่อยๆ ลูกก็จะร้องเพลงเด็กง่ายๆ ได้อย่างถูกต้อง ลูกจะมีพัฒนาด้านจังหวะดีขึ้น เคลื่อนไหวตามจังหวะได้มากขึ้น เริ่มตบมือหรือเคาะจังหวะได้เข้ากับเพลงมากขึ้น ร้องเพลงที่มีรูปแบบจังหวะได้ เริ่มพัฒนาการรับรู้ความต่างของระดับเสียงดัง เสียงเบา และรับรู้ความเร็ว ความช้าของเพลงได้

 

เด็กอายุ 4 ขวบ

      เด็กวัยนี้สามารถร้องเพลงได้ตรงระดับเสียงกลางๆ ในช่วงของโน้ต เร-ลา ได้ เริ่มพัฒนาการปรบมือ ตบตักตามจังหวะต่างๆ ได้ เข้าใจจังหวะหยุดได้ สามารถทำซ้ำรูปแบบจังหวะสั้นๆ บนเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้ แสดงความรู้สึกเข้ากับเพลงได้ เต้นประกอบเพลงได้ เริ่มพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วได้

 

เด็กอายุ 5 ขวบ

      เมื่อฟังเพลงแล้ว สามารถแยกแยะได้ว่าเพลงไหนหรือท่อนไหนที่แสดงอารมณ์สุข สนุก หรือเศร้า โดยรับรู้ได้จากความช้าเร็วของเพลงนั้นๆ และจำแนกเสียงของเครื่องดนตรีได้ว่าเป็นเสียงกลอง เสียงไวโอลิน เสียงกีต้าร์ หรือว่าเป็นเครื่องดนตรีกลุ่มไหน เช่น เครื่องสาย เครื่องประกอบจังหวะ และผลการศึกษาบอกว่า หากเด็กได้ฟังดนตรีแบบไหนบ่อยๆ จะมีส่วนให้เกิดความชอบดนตรีแบบนั้นด้วย คุณแม่จึงมีส่วนสำคัญกับรสนิยมการฟังเพลงของลูกโดยตรง

 

      ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ต้องไม่ลืมว่าลูกๆ เรียนรู้ผ่านการเล่น ต้องทำให้เขารู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ วางแผนสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม จัดกิจกรรมให้ตรงตามพัฒนาการของลูก และคอยสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ชอบ มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษ ต้องไม่ลืมว่าการให้ลูกเรียนรู้อย่างมีความสุขจะได้ผลดีที่สุด

 

ข้อมูลจากหนังสือ เลี้ยงลูกด้วยเสียงดนตรี

บทความนี้มาจากเพจ : Amarin books

แบ่งปัน :