ประวัติศาสตร์ของสิ่งทอของจีน
ประวัติศาสตร์ของสิ่งทอของจีน
 15 Oct 2019   3368

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสิ่งทอของจีนที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยชาวหลี (ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะไดเผ่าหนึ่งที่อยู่ในดินแดนจีนนะครับ)

คือแอดกำลังจะบอกว่า โดยมากบรรพบุรุษชาวเผ่าชาติพันธุ์ไท-กะได รวมถึงชาวไทยโบราณนั้นมีความสามารถเชิงช่างในการทอผ้ามานานแล้วครับ

แต่เรื่องย้อมผ้านั้นบอกตรงๆว่าคนเผ่าไทนั้นค่อนข้างเป็นอะไรที่สืบทอดกันต่อน้อยมาก เนื่องจากว่าคนไทมักจะมีลักษณะการถ่ายทอดในวงศ์ตระกูลและแทบจะไม่มีการบันทึกสูตรการย้อมต่างๆเลย

จึงทำให้เฉดสีของผ้าไทยจากสีธรรมชาตินั้นน้อยมาก แต่โชคดีที่ความสามารถในเชิงการทอของไทยนั้นล้ำมาก ในการที่จะเลือกเส้นด้ายต่างสีมาถักทอรวมกันเป็นลวดลายได้อย่างวิจิตรกันเลยทีเดียว

ซึ่งเราแทบจะไม่เห็นผ้าย้อมที่มีสีเหลือบกันจากการใช้เส้นด้ายสองสีขึ้นไปมาทอเป็นสีพื้นรวมกันในวัฒนธรรมอื่นเลย ยกเว้นผ้าไทยนี่แหละครับ (วัฒนธรรมอื่นก็มีการใช้เส้นด้ายหลายสีเช่นเดียวกัน แต่เน้นในการสร้างลวดลาย ในขณะที่ผ้าไทยนั้น ผ้าพื้นก็ยังใช้เส้นด้ายต่างสีมาทอรวมกันอ่ะครับ)

เรียกว่าเทคนิคการทอเป็นเลิศ สามารถทอลวดลายต่างๆได้แทนการปักอย่างสวยงาม แต่เทคนิคการย้อมเราต้องเลียนแบบชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่าเสมอมา และเทคนิคยังไม่แพรวพราวนักเมื่อเทียบกับชาติอื่นอ่ะครับ

 

ชาวหลี กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สิ่งทอของชาติจีน

. . . หากพูดถึงประวัติศาสตร์จีนแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได นั้นไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นอะไรมากมายนักเมื่อเทียบกับพวกกลุ่มอื่น ๆ อย่างมองโกล ทิเบต หรือเวียดนาม ตลอดประวัติศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์ของเรามักถูกบันทึกว่าเป็นกลุ่มหนานเย่ว์ คือกลุ่มชาวป่าทางใต้ ที่อาศัยอยู่ในแถบป่าร้อนชื้น ดำรงชีวิตเกษตรกรรมแบบง่าย ๆ

. . . แต่หากพูดถึงประวัติศาสตร์ของสิ่งทอแล้ว มีกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได กลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทว่าเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทอที่สำคัญต่อชาวจีนอย่างมาก นั่นคือชาวหลี(Li people ,黎族) นั่นเองครับ

. . . ชาวหลีนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได ที่อาศัยอยู่ในบริเวณทางตอนกลางของเกาะไห่หนาน หรือไหหลำ ทางตอนเหนือของทะเลจีนใต้ พวกเขาดำรงชีวิตแบบง่าย ๆ โดยการปลูกพืชอย่างมัน เผือก และกล้วย อาศัยอยู่ในบ้านดินมุงฟาง เก็บของป่า และถักทอชุดเพื่อนุ่งห่ม หรือแลกขาย โดยตามบันทึกของประวัติศาสตร์จีนนั้นมีปรากฏการเขียนถึงชาวหลีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หนานเป่ย และสุยแล้ว (ซึ่งอาจจะเก่าแก่กว่านั้น ตามหลักฐานทางโบราณคดีบนเกาะ)

. . . เครื่องนุ่งห่มที่จะกล่าวถึงนั้นคือผ้าฝ้าย สิ่งทอที่มีจุดเริ่มต้นจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ชาวจีนนั้นอาจจะรู้จักการทอผ้าไหมมาในยุคก่อนหน้าร่วมพันปีแล้ว โดยการเลี้ยงหนอนไหม นำดักแด้ไปต้ม แล้วแยกใยมาทอเป็นชุด แต่สำหรับผ้าฝ้ายแล้ว พวกเขาทำได้แค่ชุดผ้าฝ้ายแบบง่ายเท่านั้นเองครับ

. . . ชาวหลีนั้นมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนกว่าในการถักผ้าฝ้ายให้มีคุณภาพ และสวยงาม พวกเขาเริ่มต้นตั้งแต่การเก็บฝ้าย แยกเมล็ดฝ้ายออกจากใยโดยใช้เครื่องหีบฝ้าย ตีฝ้ายให้ฟูเป็นเส้นใย นำไปปั่นโดยใช้กระสวยมือ ย้อมโดยใช้สีจากเปลือกไม้ หรือใบฮ่อมตำ ซึ่งให้สีแดง และสีคราม บางครั้งพวกเขาจะนำด้ายไปมัดเป็นตำแหน่งตามผ้าฝ้าย เพื่อสร้างลายก่อนย้อม และพวกเขาทอโดยใช้กี่ทอขนาดเล็กที่ต้องรั้งกี่ด้วยเอว และเหยียดกี่ด้วยเท้าให้ตึง

. . . งานปักผ้าฝ้ายของชาวหลีนับว่าซับซ้อน หญิงชาวหลีที่ชำนาญสามารถทอผ้าฝ้ายเป็นผ้าซิ่นสองหน้าได้ รวมถึงปักด้ายให้เกิดลวดลายสวยงาม อย่างผ้าปักลายมังกรที่ชาวหลีมอบเป็นบรรณาการแก่จักรพรรดิจีน ซึ่งงานผ้าฝ้ายของชาวหลีนับล่าสูงค่าพอ ๆ กับผ้าฝ้ายดามัสเลยทีเดียว

. . . และจากที่กล่าวมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สิ่งทอของชาวจีนไปตลอดกาล เริ่มต้นในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งหญิงสาวชาวฮั่นนาม หวงเต้าโผ(Huánɡ Dàopó,黄道婆) ได้หลบหนีจากบ้านเกิดมายังเกาะไห่หนาน เรียนรู้ทักษะการทอผ้าจากชาวหลีนับ 40ปี ก่อนจะกลับบ้านเกิดยังตำบลหัวจิง นางนำผ้าฝ้าย และทักษะสิ่งทอไปประยุกต์ จนก่อให้เกิดอุตสาหกรรมสิ่งทอชนิดใหม่ ซึ่งมีผลต่อชุดในสมัยหลัง ๆ อย่างมาก และชาวจีนก็นับยกย่องว่านางเป็นจุดกำเนิดของอุตสาหกรรมสิ่งทอของชาวจีน

. . . ล่วงเข้ามาถึงสมัยราชวงศ์หยวน ผ้าฝ้ายได้ข้ามผ่านเส้นทางสายไหมไปยังตะวันตก และสร้างวิทยาการสิ่งทอให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นับได้ว่าสิ่งทั้งหลายมีจุดต้นกำเนิดมาจากชาวหลีนี่เอง

. . . แต่น่าเสียดาย ภายหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ความรู้ด้านการถักทอของชาวหลีเริ่มสูญหาย ทักษะบางอย่างมีแค่หญิงชราไม่กี่คนที่ยังจำความได้ แต่ทักษะอย่างงานปักด้ายลายมังกรได้สูญหายไปตลอดกาล จนยูเนสโกได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่กำลังสูญหายนี้ให้กลับมาดังเดิม

คลิปประกอบ คลิกเพื่อเปิดลิ้งก์ เพิ่มเติม - หญิงชาวหลีมีความพิเศษกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะไดกลุ่มอื่น พวกเขามีวัฒนธรรมการสักแขน ขา และใบหน้า ซึ่งไม่ปรากฏในกลุ่มไทใด ๆ แต่มีปรากฏในกลุ่มชาติพันธุ์มาลาโย-โพลีนีเซียน ทำให้เชื่อได้ว่าอาจจะเป็นวัฒนธรรมร่วมโบราณที่มีในแถบนี้มาก่อน // แอดลู่

 

บทความนี้มาจากเพจ: เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว

แบ่งปัน :
ข่าวอื่นๆ