เมื่อพูดถึง พิกซาร์ เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงผลงานภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เปี่ยมล้นไปด้วยจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจ อย่างเรื่องทอยสตอรี่ ของเล่นที่มีชีวิตของเด็กชายชื่อแอนดี้ หรือเรื่องราวการผจญภัยของปลาการ์ตูนตัวน้องและผองเพื่อนใน นีโม เพื่อรักขวัญใจของเด็กๆ และผู้ใหญ่หลายคน
ซึ่งกว่าพิกซาร์ จะยิ่งใหญ่และมีผู้คนรอคอยผลงานของพวกเขาอยู่ตลอดเวลามันไม่ง่ายเลย รวมถึงเรื่องการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่จะมาตราตรึงอยู่ในจิตใจของทุกคนด้วย
มาดูกันว่า พิกซาร์ สร้างอะไร และผ่านอะไรกันมาบ้าง
ทำไมถึงชื่อพิกซาร์
ชื่อนี้เกิดจากการถกกันระหว่างแอลวี่กับเพื่อนร่วมงานอีกคนคือ ลอเรน พาร์เพนเทอร์ แอลวี่ซึ่งใช้ชีวิตวัยเด็กในเท็กซัสและนิวเม็กซิโกหลงใหลภาษาสเปน และสนใจการที่คำนามในภาษาอังกฤษไปเหมือนคำกริยาในภาษาสเปน เช่นคำว่าเลเซอร์ แอลวี่จึงหนุนให้ใช้คำว่า “พิกเซอร์” ซึ่งเขาคิดเองว่าเป็นคำภาษาสเปน (ปลอมๆ) แปลว่า “การสร้างภาพ”
ลอเรนค้านด้วยคำว่า “เรดาร์” ที่เขาคิดว่าฟังดูไฮเทคกว่า แล้วพวกเขาก็ปิ๊งขึ้นมาว่า พิกเซอร์ + เรดาร์ = พิกซาร์ เหมาะเจาะพอดี
พิกซาร์ ออริจินัล
บริษัทพิกซาร์มีขนาด 15 เอเคอร์ สร้างในบริเวณโรงงานผลิตอาหารกระป๋องเก่า โดยมีสตีฟ จ๊อบส์ เป็นผู้ออกแบบทั้งภายในและภายนอก รูปแบบทางเข้า-ออก ที่คิดมาอย่างดีกระตุ้นให้คนร่วมมือ พบปะ และสนทนากัน ด้านนอกมีสนามฟุตบอล คอร์ตวอลเลย์บอล สระว่ายน้ำ และอัฒจันทร์ขนาด 600 ที่นั่ง
แอนิเมเตอร์ที่ทำงานในนี้มีอิสระให้ตกแต่งพื้นที่ทำงานของตัวเองแบบไหนก็ได้ตามความต้องการ พวกเขาได้ทำงานในบ้านตุ๊กตาสีชมพูแขวนโคมไฟระย้าจิ๋ว ในกระท่อมที่ทำจากไม้ไผ่จริงๆ มุงหญ้าคา และในปราสาทที่ทาสีอย่างพิถีพิถัน มีหอคอยสูง 15 ฟุตทำจากสไตโรโฟมให้เหมือนแกะสลักจากหิน ทุกปีบริษัทจะมีประเพณีให้ “พิกซาร์พาลูซา” ที่ให้วงร็อคในบริษัทมาประชันความเป็นใหญ่ ร้องเล่นสุดเหวี่ยงบนเวทีที่ตั้งบนสนามหญ้าหน้าบ้าน
ที่พิกซาร์ให้คุณค่ากับการแสดงตัวตนมาก ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้รับการปลดปล่อย พนักงานจะได้รับความเบิกบาน ความเพ้อฝัน นี่คือปัจจัยความสำเร็จของพิกซาร์
กว่าจะมี ทอยสตอรี่
ทอยสตอรี่ 1 เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 ในโรงภาพยนตร์ที่อเมริกา นักวิจารณ์ประกาศว่ามัน สร้างสรรค์ ฉลาด ปราดเปรื่องน่าทึ่ง และล้ำจินตนาการ
การสร้างทอยสตอรี่ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ความพิวเตอร์สร้างภาพเคลื่อนไหวทั้งหมด ต้องใช้ความดึงดัน ความสามารถทางศิลปะ และความอดทนทุกหยาดหยด ชายหญิงกว่าร้อยคนที่ร่วมสร้างมันขึ้นมาต้องเผชิญเรื่องดีและร้ายนับไม่ถ้วน พิกซาร์ฝ่าฟันเพื่อสร้างทอยสตอรี่อยู่ 5 ปีเต็ม รื้อเนื้อเรื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่ามันสมจริง ทำงานตอนกลางคืน สุดสัปดาห์และวันหยุดโดยแทบไม่มีใครบ่น
เพราะพวกเขาเชื่อในความคิดง่ายๆ คือ “ถ้าเราสร้างบางอย่างที่เราอยากดู คนอื่นก็น่าจะอยากดูด้วย” ตอนนั้นพวกเขารู้สึกเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา พยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มีหลายช่วงเวลามากที่อนาคตของพิกซาร์มืดมน แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมา
ทอยสตอรี่ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้อันดับต้นๆ ของปีและกวาดรายได้ 358 ล้านเหรียญทั่วโลก
หนังทุกเรื่องมีกฎของตัวเอง
หนังของพิกซาร์ทุกเรื่องมีกฎของตัวเองที่คนดูต้องยอมรับ เข้าใจ และสนุกไปกับการทำความเข้าใจ เช่น มนุษย์ไม่มีทางได้ยินเสียงของเล่นในทอยสตอรี่ หนูในเรื่อง พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก เดินสี่ขาเหมือนสัตว์ปกติ ยกเว้นเรมี่ พระเอกที่เดินตัวตรงแตกต่างจากคนอื่น ในหนังของพีท กฎข้อหนึ่ง อย่างน้อยก็ ณ จุดนี้คือความทรงจำ (แสดงภาพเป็นลูกแก้วเรืองแสง) จะถูกเก็บไว้ในสมองโดยไหลผ่านรางคดเคี้ยวเข้าไปในที่เก็บแบบหนึ่ง เมื่อรื้อฟื้นหรือระลึกถึงความทรงจำนั้น มันจะกลิ้งกลับลงมาตามรางคดเคี้ยวอีกรางหนึ่ง เหมือนลูกโบว์ลิ่งที่ไหลกลับมาหาคนโยนในราง โครงสร้างเฉพาะแบบนี้ช่างงดงามและทรงประสิทธิภาพ
ทอยสตอรี่ 3 เมื่อแอนดี้ไม่เล่นของเล่น
การสร้างทอยสตอรี่ 3 อาจเป็นห้องเรียนชั้นยอดเรื่องวิธีการสร้างภาพยนตร์ ตอนเริ่มต้นกระบวนการเมื่อปี 2007 ทีมที่สร้างทอยสตอรี่ภาคแรกไปรวมตัวกันยอกสถานที่สองวันที่เคบินในชนบทหลังหนึ่ง
เมื่อนั่งบนโซฟาพร้อมมีกระดานไวท์บอร์ดกลางห้อง สมาชิกทั้งหลายก็ตั้งคำถามพื้นฐาน “ทำไมต้องทำภาคสาม” ยังมีอะไรเหลือให้พูดอีก เรายังสงสัยเรื่องอะไรอีก หลังจากที่ถกกันมาสักพักใหญ่ ก็มีใครสักคนเอยสิ่งที่สรุปทุกอย่างลงจนได้ภาพชัดเจน
“ตลอดหลายปี เราพูดกันเยอะมากในหลายๆ รูปแบบเรื่องแอนดี้โตขึ้น และโตเกินจะเล่นของเล่น งั้นทำไมเราไม่พุ่งประเด็นไปที่เรื่องนั้นตรงๆ เลยล่ะ ของเล่นจะรู้สึกอย่างไรเมื่อแอนดี้ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัย”
แม้ไม่มีใครรู้ว่าจะตอบคำถามนั้นอย่างไร แต่ทุกคนก็ตระหนักได้ทันทีว่า เราได้ไอเดียซึ่งเป็นโครงเรื่องอันตึงเครียดที่จะสร้างชีวิตให้ทอยสตอรี่ 3 แล้ว
วิเคราะห์หลังจบงานทุกครั้ง
บางบริษัทหลังจากจบงานใหญ่ๆ สักงาน คงมีการสรุปยอด ชื่นชมพนักงาน และเลี้ยงฉลอง แต่สำหรับพิกซาร์แล้ว พวกเขาต้องมาวิเคราะห์อย่างจริงจังทีละจุด สำรวจว่าอะไรดีไม่ดี สรุปบทเรียนที่ได้เรียนรู้ ขุดคุ้ยทุกแง่มุมในการสร้าง และการวิเคราะห์นี้ส่งผลต่อการผลิตผลงานในอนาคตด้วย
มาดูกันว่าทำไมพิกซาร์ต้องวิเคราะห์หลังจากจบงาน
- เพื่อสรุปสิ่งที่เรียนรู้ไป
จริงอยู่ที่ทุกคนได้เรียนรู้มากที่สุดระหว่างการทำงาน แต่อาจไม่มีเวลาส่งต่อให้คนอื่น การได้นั่งลงคุยกันหลังจากนั้นคือหนทางสรุปทุกอย่างที่ได้เรียนรู้ไปก่อนที่จะลืม
- เพื่อสอนผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ ณ ที่นั่น
แม้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างจะเข้าใจว่ามันสอนอะไรพวกเขา แต่คนอื่นก็ไม่ได้มารู้ด้วย การคุยกันหลังจบงานจะเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เรียนรู้หรือท้าทายตรรกะเบื้องหลังการตัดสินใจทำลงไป
- เพื่อไม่ปล่อยให้ความไม่พอใจกลัดหนอง
หลายอย่างที่ผิดพลาดเกิดจากความเข้าใจผิดหรือการทำพลาด สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความไม่พอใจซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่จัดการอาจกลัดหนองอยู่ได้หลายปี ความรู้สึกเหล่านี้จะจัดการได้ง่ายขึ้นมากถ้าพวกเขาได้ระบายออกมาในการวิเคราะห์หลังจบงาน
- เพื่อใช้กำหนดการบีบให้ไตร่ตรอง
การกำหนดให้วิเคราะห์หลังจบงานบีบให้ทบทวนตัวเอง ถ้ามันคือโอกาสให้ต่อสู้กับปัญหาอย่างเปิดเผย
- เพื่อส่งต่อ
การวิเคราะห์หลังจบงานที่ดีช่วยให้คนได้คำถามที่ถูกต้องสำหรับเดินหน้าต่อ
บทความนี้มาจากเพจ : Amarin books