วิธีแก้ปัญหาในการทำงาน จากโนโบรุ โคยามา CEO ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น
วิธีแก้ปัญหาในการทำงาน จากโนโบรุ โคยามา CEO ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น
 11 Oct 2019   996

      แต่ละองค์กร ย่อมมีวิธี แก้ปัญหาในการทำงาน แตกต่างกันอยู่แล้ว วิธีของคุณโนโบรุ โคยามาก็เช่นกัน เขาเป็นสุดยอดประธานบริษัท ที่เหล่า CEO ทั่วประเทศญี่ปุ่นอยากเรียนรู้งานจากเขา

      โนโบรุ โคยามา เปิดหลักสูตรมูลค่า 300,000 บาท เพื่อให้เหล่า CEO ที่อยากเรียนรู้งานจากเขามา “ถือกระเป๋า” ให้ 3 วัน  ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ติดตามคุณโนโบรุไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ประชุมกับเหล่าผู้บริหาร เยี่ยมบริษัทลูกค้า ทานมื้อกลางวัน หรือแม้แต่เที่ยวคลับหรู ระหว่างนั้นก็จะได้สัมผัสวิธีที่คุณโนโบรุ ปฏิบัติกับลูกค้า กับเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง การกล่าวชมเชยหรือตำหนิ หรือกระทั่งการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 

      คอร์สนี้ได้รับความนิยมในหมู่ CEO ของญี่ปุ่นอย่างมากจนมีคนจองล่วงหน้าถึง 70 คน!

 

ลองมาดูกันว่า คุณโนโบรุ โคยามา มีวิธี แก้ปัญหาในการทำงาน อย่างไร จนทำให้คนยอมจ่ายค่าคอร์สสูงถึงเพียงนี้

 

ยอดตกทำยังไงดี

      คุณโนโบรุบอกว่า “การลดราคา” คือความทุ่มเทของกิจการ แต่ “การขึ้นราคา” คือความทุ่มเทที่น่าภาคภูมิใจกว่า เขาได้แบ่งการทำงานของคน 3 แบบ ดังต่อไปนี้

คนทำงานเกรดเอ : คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะ “ขึ้นราคา” ได้

คนทำงานเกรดบี : คิดว่าทำอย่างไรลูกค้าถึงจะไม่ “ร้องเรียน”

คนทำงานเกรดซี : คิดว่าทำอย่างไรถึงจะ “ลดราคา” ได้

      คุณโนโบรุหาหนทางแก้ปัญหานี้ว่า ข่าวภาษีมูลค้าเพิ่ม เพิ่มขึ้นไม่ใช่วิกฤต แต่เป็นโอกาสปรับสร้างผลกำไรต่างหาก ถึงจะเป็นการขึ้นราคาสินค้าชิ้นละ 1 บาท ผลคำนวณที่ได้คือ กำไรปกติ 5 ล้านบาทต่อเดือนมันก็คุ้มค่าอยู่ที่จะขึ้นราคา แม้จะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

      ประธานบริษัทหลายคนคิดว่า “การไม่ขึ้นราคาสินค้า” คือความทุ่มเทของกิจการ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด “การขึ้นราคาสินค้า” ก็ถือเป็นความทุ่มเทของกิจการที่น่าภาคภูมิใจเช่นกัน เพราะจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น

 

มีของให้เลือกเยอะ แต่ทำไมได้กำไรน้อย

      ในกรณีนี้จะขอยกตัวอย่างเป็นร้านราเม็ง 2 ร้าน ร้านเอมีเมนูแนะนำแค่ 1 อย่าง ร้านบีมีเมนูให้เลือก 10 อย่าง คนทั่วไปคงคิดว่า ร้านที่มีหลากหลายเมนูจะต้องทำยอดขายได้ดีกว่าอย่างแน่นอน

      แต่ความจริงแล้ว ร้านที่ทำยอดขายได้มากที่สุดคือร้านเอต่างหาก คุณโนโบรุกล่าวว่า ร้านที่สองมีเมนูอาหารมากเกินไป ควรมีแค่เมนูเดียว สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีกำลังคนและทุนไม่เพียงพอถือเป็นหายนะก็ว่าได้

      ร้านเอ เลือกเมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แล้วขายแต่เมนูนั้น นั่นก็คือ “ราเม็งปลาแห่งนิโบชิ” ราคา 270 บาท หลายคนอาจคิดว่าราคาแพงไป แต่ที่ร้านตั้งใจคัดสรรวัตถุดิบอย่างดี แถมเพิ่มปริมาณอีกเป็น 1.5 เท่าจากของเดิม

      ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าความต้องการสูงสุดของลูกค้าคืออะไร แล้วทุ่มเททรัพยากรการบริหาร ทั้งเงิน เครื่องไม้เครื่องมือ และบุคคากร จากนั้นก็ปรับปรุงและพัฒนาบริการนั้น พิจารณาว่ามีส่วนไหนต้องปรับให้กระชับขึ้นหรือยอมตัดใจทิ้งอย่างไม่ต้องเสียดาย เรียกว่าเป็นการขยายการบริการให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วยการ “เน้นรายละเอียดการบริการ”

 

พนักงานลาออกบ่อยมาก

      ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือคนที่มีประสบการณ์ ก็ไม่มีใครเข้ามาทำงานโดยคิดว่า “อยากลาออก” หรอกนะ สาเหตุที่อัตราการลาออกของพนักงานสูงเป็นเพราะประธานบริษัทไม่กล่าวชมเชยลูกน้องเลย แต่พอเป็นเรื่องตำหนิก็มาไม่ยั้ง เรียกได้ว่าเจอจุดพลาดเมื่อไหร่ก็รีบตำหนิทันที

      คนเราเมื่อได้รับการชมเชยก็จะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และรู้สึกว่าอยากลองพยายามอีกสักตั้ง คุณโนโบรุ ใช้เวลากล่าวชมเชยพนักงานในบริษัทถึงวันละ 1 ชั่วโมง เขาจะเขียนการ์ดขอบคุณ หรือรีบจดโน้ตทันทีเมื่อพบเห็นสิ่งที่น่าจะนำมาชมเชยลูกน้องได้ หรือไปร่วมงานเลี้ยงส่งเมื่อลูกน้องลาออก เขาใช้เวลาถ่ายทอดความรู้สึกขอบคุณให้กับพนักงานเยอะมาก

      จำไว้ว่าหลักพื้นฐานของการพัฒนาบุคลากรคือ “การชมเชยเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา”

      การกล่าวชมลูกน้องไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมากมาย แค่ได้ยินว่าอีกฝ่ายทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จ เช่น เลิกบุหรี่ได้แล้ว หรือเห็นลูกน้องตัดผมแล้วดูดีขึ้น ก็กล่าวชม คนเรามักจะดีใจเมื่อได้รับคำชมจนเกิดกำลังใจที่จะพัฒนาการทำงานไปเรื่อย ๆ

โอกาสสำเร็จและล้มเหลวมีอย่างละ 50% ควรเดินต่อไปหรือถอยหลัง

      ครั้งหนึ่ง คุณโนโบรุต้องเข้ารับการผ่าตัด คุณหมอบอกว่า ‘โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนมี 50% คุณจะผ่าตัดไหม’ เขาตอบคุณหมอไปทันทีว่า “ผ่าครับ คนที่ไม่ลงมือทำเมื่อมีโอกาสสำเร็จ 50% ไม่เหมาะที่จะเป็นประธานบริษัทหรอกครับ”

      กรณีนี้นำมาปรับใช้กับการทำงานได้ด้วย ประธานบริษัทจำนวนมากไม่กล้าลงมือทำสิ่งท้าทายเพราะกลัวความเสี่ยง พวกเขามักคิดว่า โอกาสที่จะล้มเหลวมีตั้ง 50% งั้นไม่ทำดีกว่า แต่ในโลกธุรกิจไม่เหมือนกับชีวิตคน ต่อให้กิจการล้ม ก็ลุกขึ้นใหม่อีกครั้งได้ ถ้ามัวแต่กลัวล้มเหลว ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นควรลงมือทำเสีย อย่าไปสนใจเรื่องลบ

 

ข้อมูลจากหนังสือ วันๆ เขาทำอะไรถึงได้เป็นประธานบริษัท

บทความนี้มาจากเพจ : Amarin books

แบ่งปัน :
ข่าวอื่นๆ