ช่วงหัวค่ำในเดือนนี้ก็เริ่มจะมีมหันตภัยกลิ่นดอก “ตีนเป็ด” หรือ “พญาสัตบรรณ” โชยมารบกวนนาสิกประสาทของคนบางกลุ่มที่แพ้ จนแทบจะเรียกกันขำๆว่าต้น “พญาสัตบรร(ลัย)” กันเลยทีเดียว
ดังนั้นวันนี้แอดก็จะมาเล่าถึง เกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถึง วิทยาศาสตร์ของกลิ่นชวนปวดหัวของดอกตีนเป็ด นะครับ
ตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ (saptaparni) เป็นชื่อมาจากภาษาสันสกฤตที่รวมเอาคำว่า “sapta” (แปลว่า 7) และ “parni” (แปลว่า ใบไม้) เนื่องจากว่าในใบแต่ละช่อส่วนใหญ่มักจะมีใบย่อยถึง 7 ใบ (แต่โดยทั่วไปก็จะมี 5-7 ใบย่อยด้วย) และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Alstonia scholaris” นะครับ
และมีช่อดอกที่ออกเพียงปีละครั้งในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ส่งกลิ่นหอม (?) ไปทั่วบริเวณโดยเฉพาะตอนหัวค่ำนี่ อื้อหือ!! เล่นเอาบางคนที่แพ้กลิ่นนี่ปวดประสาทหรือปวดหัวไมเกรนกันเลยทีเดียว
ด้วยความว่าดอกตีนเป็ดนั้นมีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดมาก (อย่างน้อยถึง 34 ชนิด) โดยที่สารให้กลิ่นหลักนั้นจะเป็นสารประกอบ linalool (37.5%) และสารอื่นๆ เช่น cis-/ trans-linalool oxides (14.7%), α-terpineol (12.3%), 2-phenylethyl acetate (6.3%) และ terpinen-4-ol (5.3%) ที่ผสมปนเปกันเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์กลิ่นที่ออกหวานเมื่อได้กลิ่นตอนเจือจาง แต่จะเหม็นหวานเอียนชวนปวดหัวมากหากมีปริมาณที่สูงขึ้น (นึกสภาพตอนที่อยู่ในดงตีนเป็ดตอนที่ลมพัดแรงๆเข้าห้องดูสิครับ )
ความรุนแรงของกลิ่นนี้ที่เข้มข้นสูงๆ ที่มาแบบเป็นดงนั้นไม่ได้มีแต่คนไทยเราๆที่บ่นกันนะครับ แต่ทั้งแถบเอเชียใต้ เวียดนาม และเขตร้อนชุ่มชื้นทั้งหลายนั้นถึงกับกล่าวขวัญว่าเป็น “ต้นไม้แห่งกลิ่นปีศาจ” กันเลยทีเดียว
ซึ่งสาเหตุของความปวดหัวยามที่ได้กลิ่นดอกตีนเป็ดแบบเข้มข้นนั้น เกิดจากการที่สารในกลุ่ม linalool นั้นสามารถกระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว อีกทั้งยังกระตุ้นความอยากอาเจียรของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งคนที่แพ้กลิ่นดอกตีนเป็ดเนี่ยก็มักจะแพ้กลิ่นดอกราตรีด้วย เนื่องจากว่าเป็นสารประกอบกลุ่มเดียวกัน ที่มีโทนกลิ่นที่ชวนปวดหัวได้พอๆกัน หากได้รับความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ นอกจากนั้นอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการน้ำตาและน้ำมูกไหลออกมาด้วยนะครับ
แต่อาการนี้ก็ไม่ได้เป็นทุกคนนะครับ บางคนก็สามารถรับกลิ่นดอกตีนเป็ด (แบบอ่อนบาง) ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ พร้อมกับบอกว่า “หอมหวานเย็นๆ” ด้วยซ้ำไปนะครับ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลกันด้วยนะครับ
- ดอกไม้พิศวง
- บางคนก็ดมหอมดี
- แต่บางคนก็ดมหม็นจนปวดหัวกันเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้แอดก็ขอขอบคุณรูปประกอบบทความจากลิงก์นี้ด้วยนะครับ
บทความนี้มาจากเพจ: เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว