มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จากความชอบสู่รายได้มหาศาล
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จากความชอบสู่รายได้มหาศาล
 10 Oct 2019   911

      เรื่องราวของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่เรารู้จักในฐานะเจ้าของ FACEBOOK โซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย เขาเริ่มต้นเขียนโปรแกรมขึ้นมาเพียงเพราะความชอบเท่านั้น

มาดูกันว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก สามารถเปลี่ยนความชื่นชอบให้กลายเป็นเม็ดเงินได้อย่างไร

 

ฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก

      มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเป็นเด็กอัจฉริยะที่มีปัญญาฉลาดล้ำ เขาเกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1984 พ่อเป็นทันตแพทย์ ส่วนแม่เป็นจิตแพทย์ เขาและพี่น้องผู้หญิงสามคนเติบโตในนิวยอร์ค

      สมาชิกในครอบครัวล้วนมีพรสวรรค์ด้านวิชาการ และประสบความสำเร็จอย่างมากในวิชาชีพ ซักเคอร์เบิร์กได้รับรางวัลด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และวรรณกรรมคลาสสิก และเป็นกัปตันทีมฟันดาบ ก่อนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นอกจากภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาบ้านเกิดแล้ว เขายังสามารถอ่านและเขียนภาษาฝรั่งเศส ฮีบรู ละติน และกรีกโบราณได้ด้วย

 

เริ่มสนใจคอมพิวเตอร์

      มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เริ่มสนใจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในช่วงมัธยมต้น เขาเรียนการเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกก่อน จากนั้นจึงไปเรียนแบบส่วนตัวกับเดวิด นิวแมน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย

      เขาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากมาย เช่น เกมคอมพิวเตอร์ที่เพื่อนของเขาเป็นผู้วาดภาพประกอบ และซักเน็ต (ZuckNet) โปรแกรมซึ่งเป็นรุ่นดั้งเดิมของโปรแกรมอินสแตนท์เมสเซนเจอร์ของเอโอแอล รวมไปถึงไซแนปส์มีเดียเพลเยอร์ที่ได้รับการกล่าวถึงในเว็บไซต์สแลชด็อต โดยผู้วิจารณ์ให้คะแนนโปรแกรมนี้ 3 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนน

 

เรียนที่ฮาร์วาร์ดไม่จบ

      ซักเคอร์เบิร์กเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสาขาวิทยการคอมพิวเตอร์และจิตวิทยา ถึงแม้ว่าเขาจะมีความสามารถด้านวิชาการสูงมาก และมีความรัก ทุ่มเทในวิชาที่เรียน แต่เขากลับเรียนที่ฮาร์วาร์ดไม่จบ ตอนแรกเขาลาพักการเรียนไปหนึ่งเทอมเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาเฟซบุ๊ก ต่อมาเขาก็ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเพราะต้องการทุ่มเทให้กับบริษัทอย่างเต็มที่

*ซักเคอร์เบิร์กกลับไปที่ฮาร์วาร์ดและได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ในปี 2017

 

สร้างเฟซบุ๊ก

      หลังจากที่ซักเคอร์เบิร์กประสบความสำเร็จในการเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุยังน้อย เขายังมองว่าการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิง ความรู้ที่ได้จากฮาร์วาร์ดปูทางให้เขาได้เข้าสู่วิถีทางแห่งการพัฒนาโปรแกรมโซเชียลมีเดียที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกวันนี้ และประสบความสำเร็จด้านการเงินมากที่สุดในโลก นั่นก็คือเฟซบุ๊ก

      “ผมเขียนโปรแกรมเฟซบุ๊กจากห้องพักในหอพัก และเปิดตัวจากที่นั่น ผมเช่าเซิร์ฟเวอร์ในราคา 85 ดอลลาร์ต่อเดือน และหาทุนโดยการลงโฆษณาเสริมไปด้วย นับแต่นั้นมา ผมก็หาทุนด้วยการลงโฆษณา”

      ซักเคอร์เบิร์กคิดถึงความต้องการในท้องตลอด และเขาก็มีทักษะการตอบสนองสิ่งดังกล่าวได้ดีด้วย แถมยังทำได้เร็วกว่าคนอื่น จึงได้เปรียบในฐานะผู้บุกเบิก เขาเพียงต้องการสร้างเว็บไซต์ให้คนในมหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงกัน แนวคิดของเฟซบุ๊กจึงถือกำเนิดขึ้น

 

ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก

      ซักเคอร์เบิร์ก ไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้เพียงคนเดียว เขาจึงหาเพื่อนรวมทีมทั้งสี่คนที่รู้จักกันในฮาร์วาร์ดมาร่วมพัฒนาและโปรโมทเฟซบุ๊กต่อไป เพื่อนๆ ของเขาล้วนมีความเชี่ยวชาญและความรับผิดชอบในแบบของตัวเอง

      คนแรกคือ เอดูอาร์โด ซาเวอริน นักศึกษาชาวบราซิล ได้แสดงความสามารถทางธุรกิจด้วยการทำกำไรจำนวน 300,000 ดอลลาร์จากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันของบราซิล เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสายงานการเงิน และผู้จัดการธุรกิจของเฟซบุ๊ก

      ต่อมาเป็นเพื่อนร่วมห้องของซักเคอร์เบิร์ก ดัสติน มอสโควิทซ์ ผู้เฝ้าดูคืนที่ซักเคอร์เบิร์กเปิดตัวเฟซบุ๊ก เขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นโปรแกรมเมอร์ และเป็นผู้อำนวยการสายงานเทคโนโลยีคนแรก และเป็นรองประธานด้านวิศวกรรมในเวลาต่อมาแอนดรูว์ แมคคอลลัม ทำงานด้านกราฟิกดีไซน์ เขาทำงานที่เฟซบุ๊กสามปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นก็กลับไปเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ด

      สมาชิกคนสุดท้ายคือ คริส ฮิวส์ ชายหนุ่มผมสีบลอนด์ เขาพบซักเคอร์เบิร์กในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง เขาเป็นผู้ทดสอบผลงานของซักเคอร์เบิร์กในยุคแรกตลอดจนให้คำแนะนำด้านผลิตภัณฑ์ ฮิวส์กลายเป็นโฆษกของเฟซบุ๊ก เขาเป็นผู้เสนอให้เฟซบุ๊กเปิดบริการสำหรับโรงเรียน ซึ่งเป็นการปูทางให้เดอะเฟซบุ๊กขยายตัวสู่สังคมออนไลน์ระดับโลก

 

รางวัลและเกียรติยศ

      มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กไม่เหมือนกับมหาเศรษฐีพันล้านผู้มีความสามารถพิเศษคนอื่นๆ ตรงที่เขาไม่กระตือรือร้นในการแสวงหารางวัลและเกียรติยศ เขาพึงพอใจกับการบริหารบริษัทและทำกำไรมหาศาลในแบบของเขา

      ในปี 2010 ซักเคอร์เบิร์กได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ ในปีต่อมา หนังสือพิมพ์ เยรูซาเลมโพสต์ประกาศให้เขาเป็นหนึ่งใน “ชาวยิวที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด” และในปี 2016 เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นซีอีโอแห่งปีในการมอบรางวัลครันชีส์ประจำปีครั้งที่ 9 เป็นการประกาศเกียรติคุณผู้นำในวงการเทคโนโลยี จัดโดยเทคครันช์ แม้จะมีคู่แข่งที่สูสีอย่างทิม คุก (แอปเปิล) แจ๊ค ดอว์ซียส์ (ทวิตเตอร์) ซูซาน วอซชิซกิ (ยูทูบ) และอีลอน มัสก์ (เทสลา) แต่ซักเคอร์เบิร์กก็สามารถคว้ารางวัลมาได้

 

ข้อมูลจากหนังสือ โลกเป็นของคนที่เห็นอนาคตก่อนใคร

บทความนี้มาจากเพจ : Amarin books

แบ่งปัน :
ข่าวอื่นๆ