การเตรียมความพร้อมก่อน พรีเซ้นต์งาน เป็นสิ่งที่พนักงานมืออาชีพทุกคนควรทำ เมื่อพูดถึงพนักงานออฟฟิศทุกบริษัทย่อมมีการพรีเซ้นต์งานเกิดขึ้นทั้งนั้น การพูดบางครั้งอาจตัดสินชีวิตเราได้เลยทีเดียว เช่น การขายงานลูกค้า การเสนอโปรเจกต์ใหม่ให้บอส ต้องมานั่งลุ้นว่าลูกค้าจะชอบมั้ย บอสจะอนุมัติให้ทำหรือเปล่านะ แต่จะดีกว่าถ้าเรารู้หลักการพรีเซ้นต์งานที่ทำให้คนฟังประทับใจได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
มาดู 7 เทคนิค พรีเซ้นต์งาน ที่พนักงานมืออาชีพทุกคนต้องรู้!
จัดโครงสร้างในการเล่า
การวางโครงเรื่องให้น่าสนใจ จะต้องกระชับและมีความเกี่ยวข้องกับผู้ฟัง ดังนั้นอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่จำเป็นก็ให้ตัดออกไป ดีกว่านำมาพูด เพื่อสร้างพลังการโน้มน้าวผู้ฟังได้ต่อเนื่องและโดนใจ
เข้าประเด็นเด็ดให้ไว
ต้องคิดอยู่เสมอว่าทุกนาทีมีคุณค่า อย่าให้ผู้ฟังต้องเสียเวลาฟังสิ่งที่ไม่จำเป็น ดังนั้นทุกคำพูดต้องมีประโยชน์ การเลือกใช้คำ หรือประโยคในการเล่าต้องมีสติในการไตร่ตรอง รอบคอบ ทำให้เข้าใจประเด็นหลักที่ต้องการจะสื่อได้อย่างรวดเร็วและน่าสนใจ
*ควรระวังการเล่าเรื่องออกนอกประเด็น เพราะนากจากจะทำให้ผู้ฟังเสียเวลาโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายระหว่างการรับฟังด้วย
พูดแต่ประโยชน์ของผู้ฟัง
ลองนึกภาพดูว่าหากคุณกำลังฟังใครคนหนึ่งพูดเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า ผมมีความรู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสมายืนตรงนี้ ผมเองเคยทำงานในบริษัทแห่งนั้นมาก่อน บริษัทที่ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งที่มียอดขายสูงสุดในประเทศ บลาๆ ยาวกว่าสิบนาที คุณก็คงรู้สึกเบื่อตั้งแต่นาทีแรกที่มีใครมาพูดถึงอัตชีวประวัติของตัวเองให้เราฟัง
การพูดที่มีศักยภาพและตรงใจผู้ฟัง สามารถโน้มน้าวให้เกิดผลเกินความคาดหมายมานักต่อนัก ขอเพียงใส่ใจแก่นเล็กๆ ที่ว่า อย่าเอาเราเข้าว่า อย่ามุ่งหน้าใส่สาระ เพราะการเอาเราเข้าว่านี้ จัดเป็นการสื่อสารด้านเดียวที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ นอกจากจะน่าเบื่อแล้วยังถือเป็นอุปสรรคชิ้นโตที่ขวางทางในการพูดโน้มน้าวเพื่อบรรลุเป้าหมาย
เตรียมทุกอย่างให้ผู้ฟัง
องค์ประกอบของการทุกอย่างที่เตรียมไปจะเป็นตัวช่วยเล่าเรื่องทั้งหมดในสิ่งที่ผู้ฟังต้องการ การจัดเตรียมบทพูดที่ดีจึงต้องระมัดระวังการกล่าวถึงตนเองมากเกินไป เพราะสิ่งที่ชวนให้รู้สึกเบื่อก็คือการนั่งฟังเรื่องไร้สาระของผู้พูดนั่นเอง ลองนึกถึงตัวเองก็คงอยากจะได้ประโยชน์จากการฟังมากกว่าเสียเวลานั่งฟังเรื่องไร้สาระเป็นแน่แท้
จัดวางความสอดคล้อง
สร้างแม่แบบของการพูดด้วยการจัดโครงสร้างล้อมรอบแก่นหัวใจหลักเพื่อสร้างการพูดที่กระชับ ไม่ยืดยาด ไม่หลงประเด็นจนออกทะเลไปไกล จำสามประโยคนี้ไว้ เปิดด้วยมนตร์สะกด – เล่าให้กระจ่าง – ปิดอย่างกระแทกใจ
สร้างโครงเรื่องให้มีเสน่ห์
การสร้างโครงเรื่องเพื่อเตรียมพรีเซ้นต์งาน ควรแบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ ดังนี้
หลีกเลี่ยง Bad Start และ Bad Ending
Bad Start
คำพูดเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงให้ไกลเมื่อต้อง พรีเซ้นต์งาน
“สิ่งที่ต้องพูดในวันนี้ เพิ่งรู้ตัวล่วงหน้าเมื่อคืน”
เพราะลักษณะการออกตัวก่อนเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่เตรียมพร้อม และไม่เป็นมืออาชีพ
“ผมต้องขออภัยก่อนนะครับ เรื่องที่พูดนี้อาจจะผิดพลาดเล็กน้อย”
เพราะการกล่าวขออภัยแสดงถึงความไม่แน่ใจสิ่งที่กำลังพูด
“ผมรู้สึกเหมือนเด็กผู้น้อยที่มาพูดกับผู้มากประสบการณ์”
การถ่อมตัวเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวังการถ่อมตัวที่มากจนเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือด้วย
“เช้านี้ฝนตกเดินทางลำบากมากเลยค่ะ กลัวจะมาไม่ทันเลยต้องลงจากรถมาต่อมอเตอร์ไซค์”
เพราะอารัมภบทถึงสภาพอากาศและการเดินทางก่อนจะขึ้นพูด เป็นปัจจัยที่ลดทอนความน่าสนใจของเรื่องราวที่กำลังจะสื่อสาร
Bad Ending
คือ การกล่าวจบที่ไม่ทรงพลังหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะให้คนจดจำ เปรียบได้กับฉากละครที่จบแล้ว แต่ไม่ปัง เช่น “ขอสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้” พูดจบก็เดินจากไปทันที หรือ “หวังว่าทุกท่าจะได้รับสาระไม่มากก็น้อย” หรือการกล่าวขอโทษและขอบคุณซ้ำบ่อยครั้งจนเกินความพอดี
หากลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปพรีเซ้นต์งานในรูปแบบอื่นๆ เช่น งานเขียนบทความ สารคดี หรือสื่อโฆษณาใดๆ ก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้ว ความเข้าใจจะขึ้นอยู่กับผู้ฟังหรือผู้อ่านนั่นเอง หากพวกเขาเข้าใจความหมายของประเด็นที่เราต้องการสื่อ นั่นหมายความว่าคุณสามารถโน้มน้าวจิตใจได้แล้ว!
บทความนี้มาจากเพจ : Amarin books