บัวลอยหวานหวามใจใช่ชิวหา
บัวลอยหวานหวามใจใช่ชิวหา
 15 Oct 2019   948

      พูดถึงขนมหวานแบบไทยๆนี่ หลายๆคนก็คงจะมีเมนูโปรดเป็น บัวลอย น่ะครับ ซึ่งขนมบัวลอยนั้นก็ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวที่นวดด้วยน้ำเหมือนกันกับขนมต้มน่ะครับ ดังที่แอดเคยเล่าในลิงก์นี้น่ะครับ


      ซึ่งขนมบัวลอยนี้บางทีก็มีการเติมแต่งกลิ่น/สี/รสจากพืชชนิดต่างๆ ที่มีสีสันและกลิ่นแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น สีเขียวจากใบเตย สีเหลืองจากฟักทองต้มบด สีส้มจากแครอทต้มบด สีชมพูจากน้ำบีทรูท สีม่วงจากมันม่วงต้มบด สีน้ำเงินจากน้ำคั้นดอกอัญชัน สีขาวตุ่นจากเผือกต้มบด หรืออาจจะเป็น สีแดงม่วงจากแป้งข้าวเหนียวดำ น่ะครับ

      แล้วหลังจากนั้นจึงนำแป้งข้าวเหนียวที่แต่งกลิ่น/สี/รส มานวดจนได้เนื้อเนียนเหมือนดินน้ำมัน ก็จัดการมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ซึ่งขนาดของบัวลอยก็จะแปรผกผันกับความขี้เกียจของคนปั้นน่ะครับ

      คือถ้าขยันหน่อย บัวลอยที่ได้ก็จะเป็นลูกกลมสวยขนาดแค่ปลายนิ้วมือเลย แต่ถ้าขี้เกียจหน่อยนั้นก็จะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีปั้นเป็นเส้นยาว แล้วคลุกในแป้งนวลก่อนที่จะหั่นท่อนก็ได้ ซึ่งหลายๆครั้งแอดก็ทำแบบนี้อ่ะครับ

      พอปั้นเสร็จ ก็จัดการมาต้มในหางกะทิที่ละลายด้วยน้ำตาลปี๊บที่ปรุงรสพร้อมขยำใบเตยที่ลนไฟให้สลดก่อนกันกลิ่นเหม็นเขียวของใบเตยออกมา ให้มีกลิ่นและรสชาติหอมหวานละมุน แล้วจึงตัดรสชาติด้วยเกลือป่นเล็กน้อยเพื่อให้รสชาติเข้มข้นขึ้น ซึ่งการเติมเกลือป่นลงไปนั้นสามารถที่จะเพิ่มรสชาติหวานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ดังที่แอดเคยเล่าในลิงก์นี้น่ะครับ


      จนกระทั่งเม็ดบัวลอยก็สุกได้ที่ ซึ่งแน่นอนจากหลักการเดียวกันกับขนมต้มครับ คือ ให้สังเกตว่าเม็ดแป้งลอยน้ำกะทิขึ้นมา ก็จัดการช้อนขึ้นมาใส่ในหางกะทิปรุงรสที่ปล่อยจนเย็น เพื่อไม่ให้แป้งถูกต้มจนเละน่ะครับ

      พอต้มเม็ดบัวลอยเสร็จจนหมดแล้ว ก็จัดการช้อนเม็ดบัวลอยขึ้นมาแล้วจัดการราดหางกะทิปรุงรสที่เดือดปุดๆส่งกลิ่นหอมหวลรออยู่ในหม้อต้มบัวลอย หลังจากนั้นก็เพิ่มความหอมมันด้วยหัวกะทิที่ต้มรอไว้แล้ว ซึ่งก็ไม่ต้องต้มนานเดี๋ยวหัวกะทิจะแยกชั้นน่ะครับ ซึ่งในขั้นตอนนี้เราอาจจะหั่นเผือก มัน ฟักทอง เป็นลูกเต๋า แช่น้ำปูนใสกันเละ ต้มลงไปเพิ่ม texture ของการกินก็ได้ไม่ว่ากันน่ะครับ

      ในขั้นตอนนี้หากใครนิยมเมนู “ไข่หวาน” ก็สามารถตอกไข่ไก่ลงไปในหางกะทิปรุงรสต้มเดือดลงไปแล้วจับเวลา 3-5 นาทีตามแต่ความสุกของไข่หวานที่ชอบ วางเรียงเป็น topping ที่แสนจะน่ากินและเพิ่มโปรตีนให้แก่ร่างกายได้ดีเลยทีเดียว หรือจะประยุกต์ใช้ “ไข่แดงเค็มดิบ” ลงไปต้มด้วยเพิ่มความเข้มข้นของรสชาติขนมก็ได้หากนิยมชมชอบรสชาติของไข่เค็มน่ะครับ แต่สำหรับแอดนั้น แอดว่ามันรสชาติแปลกๆสำหรับแอดน่ะครับ (อาจจะเป็นเพราะว่าแอดไม่นิยมไข่เป็ดด้วยล่ะครับ แฮร่ๆ)

      คราวนี้เราก็จะได้บัวลอยที่เหนียวหนึบแต่แฝงด้วยความนุ่มละมุนลิ้น พร้อมกับความหอมมันจากกะทิ เผือก และพืชที่ปรุงแต่งสี/กลิ่น/รสอื่นๆ และมีกลิ่นหอมหวานอ่อนๆของใบเตย

      แถมยามที่ได้เคี้ยวนั้นก็มีความหวานชุ่มฉ่ำของน้ำกะทิปรุงรสแซมเข้าไปด้วย และถ้ามีไข่หวานด้วยเนี่ย ก็จะได้ความมันของไข่แดงที่ต้มสุกเป็นยางมะตูมและรสเค็มอ่อนๆของลิ่มไข่ขาวที่เคลือบคลุมไข่แดง และกระจายตัวในน้ำกะทิอีกด้วย

      ซึ่งความสุขยามที่ได้ลิ้มรสบัวลอยที่ทำด้วยฝีมือตัวเองนั้น แอดเองก็คาดว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ได้ลงทุนลงแรงทำไปเลยทีเดียวเลยครับ

สุดท้ายนี้แอดก็ขอขอบคุณรูปขนมบัวลอยที่แสนจะน่าทานจากลิงก์นี้ด้วยนะครับ


"ใต้ความอยากยามค่ำคืน ดีต่อใจจัญไรต่อพุง ขนมไทยไม่แพ้ขนมใดในโลกหล้า"

 

บทความนี้มาจากเพจ: เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว

แบ่งปัน :
ข่าวอื่นๆ